ณ เมืองแก้ว
เดินทางเยือนสถานที่ต่าง ๆ ตามเรื่องราวพระประวัติ ค้นหาว่า
มีร่องรอยอะไร หลักฐานชิ้นไหน อยู่ในสถานที่แห่งใดบ้าง ณ เมืองแก้วแห่งนี้

His Royal Highness Admiral Prince Abhakara of Chumphon’s Family Foundation
Plymouth

พลีมัธ เมืองท่าและฐานทัพเรือทางใต้สุดของเกาะอังกฤษ
เชื่อมแผ่นดินกับเส้นทางเดินเรือ จากช่องแคบอังกฤษสู่ทะเลเคลติก
ผ่านอ่าวบิสเคย์ ไปเข้าช่องแคบยิบรอลตาร์สู่ทะเลอัลโบรัน
อันเป็นส่วนตะวันตกที่สุดของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
หลังทรงเสร็จสิ้นการฝึกในกองเรือแห่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์เสด็จทางเรือกลับสู่อังกฤษ
โดยทรงขึ้นบกที่ฐานทัพเรือแห่งนี้ การดั้นด้นไปให้ถึงพลีมัธ
แม้จะมีเวลาอยู่ที่นั่นเพียงสั้น ๆ ก็ตาม เกิดขึ้นด้วยความรู้สึก
คล้ายการมุ่งหน้าไปรับเสด็จองค์ต้นราชสกุล
จากการทรงรอนแรมในทะเลอย่างยาวนาน
ชายฝั่งพลีมัธในวันนั้นหนาวเหน็บและลมพัดแรง พระทายาทและ
ชาวคณะทุกคนล้วนสั่นสะท้าน แม้จะเผชิญสภาพอากาศอยู่ไม่นานนัก
Plymouth

เรื่องราวการเดินทางเหล่านี้ บอกอะไรกับเรา ?
เราอาจได้ยินอะไร ในการเดินทางตามรอย
พระประวัติ ณ “เมืองแก้ว” แห่งนี้ ?
Portsmouth

งานจดหมายเหตุในอังกฤษ กระทำกันกว้างขวางแพร่หลายเกินกว่าจะรวบรวมเอกสารจดหมายเหตุไว้ได้
ในสถานที่ใดเพียงแห่งเดียว ดังนั้น ด้วยความอนุเคราะห์ประสานงาน โดยผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือ ณ กรุงลอนดอน
พระทายาทและคณะจึงมีโอกาสเดินทางไปสืบค้นเอกสารจดหมายเหตุ National Museum of the Royal Navy
ภายในฐานทัพเรือพอร์ทสมัธ ห่างจากกรุงลอนดอนไปราว 120 กิโลเมตร
Portsmouth



เอกสารหลักฐานอีกส่วนหนึ่ง เกี่ยวกับปฏิบัติการของกองเรือ
แห่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อาทิ ประกาศปิดอ่าว
และการส่งทหารขึ้นบก รวมทั้งสมุดปูมของเรือรีเวนจ์และเรือฮอว์ก
อันเป็นเรือที่เชิญเสด็จพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์
จากมอลตาสู่เรือรีเวนจ์ที่ชายฝั่งตุรกี รวบรวมอยู่ที่นี่
15 Marine Parade, Brighton

เมื่อแรกทรงศึกษาในอังกฤษ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนเทพทวาราวดี และพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์
ได้เสด็จไปประทับอยู่กับครอบครัวนายเบซิล ทอมสัน พระอภิบาล ที่เมืองไบรตันเป็นการชั่วคราว
15 Marine Parade, Brighton

อาคารเลขที่ 15 อันเป็นอดีตที่ประทับชั่วคราวของทั้ง 2 พระองค์ หันหน้าสู่ทะเล
ตั้งอยู่บนถนน Marine Parade ซึ่งคือถนนสายหลักเลียบชายหาดของเมือง
15 Marine Parade, Brighton

เมืองไบรตัน ไม่ว่าจะในปีที่เสด็จไปประทับชั่วคราว หรือในอีกกว่าศตวรรษต่อมา
เมื่อพระทายาทเดินทางไปตามรอยพระประวัตินั้น มีสถานะคล้ายคลึงกัน
คือเป็นเมืองตากอากาศที่ได้รับความนิยมจากผู้คนทุกชนชั้น
15 Marine Parade, Brighton

แม้ไบรตันจะเป็นเมืองชายฝั่งด้านใต้ของเกาะอังกฤษ ซึ่งมีอากาศอุ่นที่สุดแล้ว
แต่อุณหภูมิเฉลี่ยของไบรตันในฤดูหนาวก็สูงเพียง 5-7 องศาเซลเซียส
เป็นไปได้หรือไม่ว่า เหตุผลหลักของการจัดไบรตันให้เป็นที่ประทับระยะแรก เพื่อให้ทั้ง 2 พระองค์
ทรงจำเป็นต้องเผชิญอากาศเย็นยะเยือกให้น้อยที่สุด ระหว่างทรงปรับพระองค์และเรียนรู้สิ่งใหม่หลายด้าน ?
Greenwich

ในตำบลกรีนิช ชานกรุงลอนดอน มีสถานที่ 2 แห่ง
ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระประวัติ
คือโรงเรียนกวดวิชาของนายลิตเติ้ลจอห์น
ซึ่งทรงเข้าเรียนก่อนจะทรงฝึกในทะเล
และวิทยาลัยทหารเรือกรีนิช ที่ทรงเข้าเรียน
ภายหลังทรงเสร็จสิ้นการฝึกในทะเลแล้ว
แต่เราในปัจจุบันจะล่วงรู้ได้อย่างไรว่า
ทรงเคยไปศึกษาสิ่งใดที่หอดูดาวหลวง
อันเป็นจุดกำหนดเส้นปฐมเมริเดียนของโลก
การสำราญพระอิริยาบถที่อุทยานกรีนิช
ในวันอากาศดี หรืออาจทรงโปรด
สถานกินดื่มแห่งใดในย่านตำบลนี้ ?
Greenwich

โรงเรียนกวดวิชาของนายลิตเติ้ลจอห์น
ที่อาคารชื่อ The Limes ซึ่งพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ทรงเข้าศึกษา
ตั้งอยู่บนเนินเขา ห่างจากย่านการค้าของกรีนิชเพียงชั่วเดินราว 5 นาที
Greenwich

พระทายาทท่านหนึ่งได้อนุสรณ์คำนึงถึงองค์ต้นราชสกุลว่า
ที่หลังกำแพงนี้ ย้อนหลังไปเมื่อกว่า 120 ปีก่อน
ขณะพระชันษา 15 ปี จะทรงต้องใช้พระวิริยอุตสาหะเท่าใด
ในการประทับอยู่ประจำในโรงเรียนแห่งนี้เพียงลำพัง
ปราศจากพระอภิบาลหรือมหาดเล็ก ท่ามกลางนักเรียนอื่น ๆ
ที่มีเชื้อชาติภาษาและวัฒนธรรมแตกต่างจากพระองค์
Greenwich

ทรงต้องเพียรกล้าถึงเพียงไหน กว่านายลิตเติ้ลจอห์นจะถวายความชื่นชมอย่างลึกซึ้ง
“… His normal character is everything that you would desire in your own son …”
ปัจฉิมลิขิต ในหนังสือรับรองผลการทรงศึกษา ซึ่งนายลิตเติ้ลจอห์น ส่งถึงที่ปรึกษาประจำสถานอัครราชทูตสยาม
Greenwich

วิทยาลัยทหารเรือกรีนิช หรือ Royal Naval College Greenwich ริมฝั่งแม่น้ำเทมส์
ไม่ได้เป็นเพียงสถานศึกษาแห่งหนึ่ง หากยังเป็นสถาปัตยกรรมอันงามวิจิตร
ปัจจุบันมีสถานะเป็นมรดกโลก
Greenwich

อาคารสถานที่แห่งนี้ ก่อสร้างอย่างงดงาม
ด้วยจุดประสงค์แรกเริ่มสำหรับเป็นโรงพยาบาล
และสถานพักฟื้นของทหารเรือ เพื่อมอบเกียรติ
ตอบแทนชาวทะเลผู้กล้า ยามบาดเจ็บหรือล้มป่วย
จากสงคราม
Greenwich

โรงพยาบาลทหารเรือ เปลี่ยนมาเป็นวิทยาลัยทหารเรือ
ก่อนพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ทรงเข้าศึกษา ราว 25 ปี
Greenwich

ระหว่างทรงศึกษา พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์เสวยพระกระยาหารในห้องโถงนี้
อันเป็นสถานที่รับประทานอาหารรวมของนักเรียนทหารเรือ
เรียกว่า Painted Hall
Greenwich

โดยระเบียบของวิทยาลัย นักเรียนทหารเรือทั้งหมด
ย่อมมาปฏิบัติศาสนกิจร่วมกันทุกสัปดาห์
ในหอสวดมนต์แห่งนี้
Greenwich

วิทยากรผู้นำชมสถานที่ นำพระทายาทและคณะ
เข้าชมลาน Skittle ซึ่งอยู่ในห้องใต้ดินห้องหนึ่ง
Greenwich

Skittle เป็นกีฬาลักษณะเดียวกับโบว์ลิ่งในปัจจุบัน
บรรดานักเรียนทหารเรือจะนิยมมาชุมนุมสังสรรค์กันยามว่างในห้องนี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่อากาศหนาวจัดหรือฝนตกหนัก
เพื่อแข่งขันประลองความแม่นยำและพละกำลัง โดยใช้ลูกปืนใหญ่แทนลูกโบว์ลิ่ง
Greenwich

ทรงเข้าศึกษาวิชาการเดินเรือในวิทยาลัยแห่งนี้ ตั้งแต่
วันที่ 21 พฤษภาคม จนถึงวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2442
อุณหภูมิเฉลี่ยของกรุงลอนดอนในช่วงเวลานั้น
คือ 14-17 องศาเซลเซียส ดังนั้นพระองค์
จึงอาจจะทรงใช้เวลาที่นี่ท่ามกลางอากาศแจ่มใส
โดยไม่ทรงเคยต้องหลบหิมะ
และลมหนาวไปกลิ้งลูกปืนใหญ่
ประลองกับพระสหายในห้องใต้ดิน
แต่ใครจะรู้ เพราะกรุงลอนดอนก็มีฝนตกอยู่เสมอตลอดทั้งปี หรือมิใช่ ?
Greenwich

ทั่ววิทยาลัยทหารเรือกรีนิชและอาณาบริเวณโดยรอบ อบอวลด้วยบรรยากาศของวิทยาการความรู้
เคียงคู่สุนทรียะความงาม อันมีระเบียบแบบแผน
เราจะจินตนาการได้หรือไม่ว่า นอกจากวิชาทหารเรือ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์
น่าจะทรงซึมซับรับเอาอะไรอีกบ้างจากสถาบันแห่งนี้ นำกลับสู่สยาม ?
Greenwich

อาคารหนึ่งในอาณาบริเวณตำบลกรีนิช เคยเป็นโรงเรียนแพทย์ทหารเรือในยุคที่วิทยาลัยทหารเรือ
ยังเป็นโรงพยาบาลทหารเรือ ปัจจุบันคือที่ตั้งของ National Maritime Museum
Greenwich

เอกสารหลักฐานราชการส่วนหนึ่ง รวมทั้งหนังสือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวการทรงศึกษา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างทรงเป็นนักเรียนทำการนายเรือในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ถูกเก็บรักษาอยู่ในหอจดหมายเหตุของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
Greenwich


Natural History Museum, London

พวกเราในปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานชัดเจนว่า พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์
เสด็จพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งกรุงลอนดอนครั้งแรกเมื่อใด
เราสันนิษฐานได้แต่เพียงว่า ทรงเคยเสด็จมาที่นี่มากกว่า 1 ครั้งอย่างแน่นอน
Natural History Museum, London

หลักฐานความสนพระทัยด้านธรรมชาติวิทยา
และพระปรีชาความรู้ในระดับเทียบเทียงได้กับนักวิชาการ
ยังคงปรากฏข้ามกาลเวลา ณ คลังตัวอย่าง
สิ่งมีชีวิตของพิพิธภัณฑ์นี้
Natural History Museum, London



พระอิสริยยศของพระองค์ ปรากฏในสมุดทะเบียน
รับมอบตัวอย่างสิ่งมีชีวิตของพิพิธภัณฑ์
ร่วมกับชื่อของนักธรรมชาติวิทยา นักสำรวจ
และนักอนุกรมวิธานนานาชาติ เมื่อกว่าศตวรรษก่อน
Natural History Museum, London




Northlodge, Ascot

พระทายาทและคณะ ไม่พบร่องรอยของคฤหาสน์นอร์ธลอดจ์แห่งเมืองแอสคอต
ที่ประทับระหว่างทรงศึกษาวิชาพื้นฐาน ที่ดินแปลงใหญ่ในซอยนอร์ธลอดจ์ปัจจุบัน
เป็นที่ตั้งของบ้านพักอาศัยหลังย่อม ๆ จำนวนมาก
… แอสคอต เป็นเมืองบ้านนอก มีแต่ป่ามาก แต่ทั้งสองพระองค์ก็ทรงโปรด
และทรงเล่นในป่าทุ่งกว้างเป็นที่สำราญพระหฤทัย …
ความตอนหนึ่งในหนังสือของพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
Northlodge, Ascot

การค้นคว้าเอกสารจากอังกฤษ พบข้อมูลร่วมสมัยกับพระองค์บางชิ้น
ที่ช่วยฉายภาพพระชนม์ชีพวัยเยาว์ของพระองค์ให้แจ่มชัดยิ่งกว่าเดิม
… Prince Abhakara, later an Admiral in the Siamese Navy,
was like an English boy in his love of life in the country …
หนังสือเชิงอัตชีวประวัติ The Scene Changes ประพันธ์โดยนายเบซิล ทอมสัน
Northlodge, Ascot

… องค์มกุฏราชกุมารแห่งสยาม กับพระเชษฐาวัยเดียวกัน คือพระองค์เจ้าอาภากรฯ
ทรงได้รับการศึกษาอย่างเงียบ ๆ ทว่าครบถ้วนทุกด้านจากพระอาจารย์พิเศษส่วนพระองค์
… เจ้านายสองพระองค์ทรงได้รับการศึกษาแบบยุโรปอย่างถูกต้องและครบถ้วน …
… ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระกริยาสุภาพทว่าสง่างาม อันเป็นมรดกตกทอดของชาติสยาม
ในการสนทนา ผมตะลึงเมื่อพบว่าทั้งสองพระองค์รับสั่งภาษาอังกฤษอย่างสบาย ๆ
… ทรงติดตามอย่างเข้าพระทัยในการสนทนาทั่ว ๆ ไปรอบพระองค์โดยตลอด
กับทรงมีพระอารมณ์ขันล้นเหลือ …
แปลจากบทความเรื่อง The Crown Prince of Siam In His English Home ในนิตยสาร
The English Illustrated Magazine ฉบับเดือนเมษายน-กันยายน พ.ศ. 2438
วันเวลาที่นอร์ธลอดจ์ ได้บ่มเพาะพระคุณลักษณะหลายประการแก่พระองค์
“… most intelligent and tractable …”
“… founder of outdoor sports than most boys of his race …”
“… shown remarkable pluck and energy at games, shooting and boating …”
“… very keen in all nautical matters …”
บางส่วนจากหนังสือรับรองผลการทรงศึกษา
The National Archives

หลักฐานจำนวนมหาศาล เกี่ยวกับการประสานงานระหว่างสถานอัครราชทูตสยาม
ณ กรุงลอนดอน กับกระทรวงทหารเรืออังกฤษผ่านกระทรวงการต่างประเทศ
รวบรวมอยู่ ณ หัวใจของงานจดหมายเหตุในอังกฤษ คือหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ชานกรุงลอนดอน
The National Archives

คณะผู้ปฏิบัติงานค้นคว้า ใช้เวลา
ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติหลายวัน
แม้กระนั้นก็ยังคงรู้สึกว่า
เรายังมีเวลาไม่มากเพียงพอ
The National Archives

เอกสารที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติอังกฤษ
ช่วยเติมต่อข้อมูลและเรื่องราวจำนวนมาก
ที่หลักฐานขาดหายหรือไม่มีรายละเอียด
ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติของไทย
ช่วยให้พระทายาทและคณะมองเห็นแจ่มชัดขึ้น
ถึงภาพความท้าทายที่พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์
ขณะพระชนม์พรรษา 16-17 พรรษา
ต้องทรงเผชิญและข้ามผ่านด้วยพระวิริยะแรงกล้า