หลักฐานแห่งพระปรีชา
บางส่วนของเอกสารประวัติศาสตร์ฉบับต่าง ๆ ซึ่งสะท้อนถึงพระปรีชาอันเป็นที่ประจักษ์แม้ในสายตาชาวต่างชาติ



วิชาในการสอบ Passing-out Examination ยุคนั้น ประกอบด้วยความรู้ทางศาสนา พีชคณิต
ตรีโกณมิติและตรีโกณมิติทรงกลม รวมทั้งการประยุกต์เพื่อใช้ในการเดินเรือ
การเดินเรือ ดาราศาสตร์เดินเรือ การสร้างแผนที่ ทฤษฎีการสร้างและการใช้เครื่องวัดแดด
เข็มทิศ บาโรเมตร เทอร์โมเมตร ฟิสิกส์เบื้องต้น ภาษาฝรั่งเศส วาดเขียน
ประวัติศาสตร์ทางเรือ ภูมิศาสตร์ เขียนแบบ และการเรือ
สาระสำคัญของผลการทรงสอบ ตามที่กระทรวงต่างประเทศอังกฤษแจ้งอัครราชทูตสยาม ก็คือ
- ทรงสอบได้เป็นที่ 4 ของผู้เข้าสอบทั้งหมด
- ทรงทำคะแนนได้ถึงระดับประกาศนียบัตรชั้น First Class ในวิชาคณิตศาสตร์
และกลุ่มวิชาทั่วไป (Mathematical & General Groups of Subjects)


ร่างหนังสือจากขุนนางกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ ถึงอัครราชทูตสยาม ณ กรุงลอนดอน
แจ้งผลการทรงสอบวัดความรู้ขั้นสำเร็จการศึกษา (Passing-out Examination)
ของพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ บนเรือ Britannia
ที่มาของการทรงสอบดังกล่าว ก็คือ
- กระทรวงทหารเรืออังกฤษ ยินดีรับพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์เข้ารับการศึกษา
ในเรือรบอังกฤษ เมื่อพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ในฐานะนักเรียนนายเรือไทย
ทรงผ่านการสอบ Passing-out Examination นี้เสียก่อน - แต่กฎเกณฑ์ของรัฐบาลอังกฤษขณะนั้น ไม่อนุญาตให้ทรงเข้าศึกษาในเรือโรงเรียน Britannia
- จึงเท่ากับว่า พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ทรงต้องสอบแข่งขันกับนักเรียนนายเรืออังกฤษ
ที่ผ่านการศึกษาในเรือ Britannia ทั้งที่พระองค์ไม่ทรงเคยผ่านการศึกษานี้ - ความรู้ความสามารถที่พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ทรงใช้ในการสอบ
มีเพียงเท่าที่ทรงได้ศึกษาจากโรงเรียนกวดวิชาของนาย Littlejohns
ร่วมกับการทรงฝึกในเรือพระที่นั่งมหาจักรีในฐานะนักเรียนนายเรือไทย ราว 6 สัปดาห์


หลังการทรงสอบ Passing-out Examination
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าแก่พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์
เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2440 อันเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา
“… มีพระราชดำรัสว่า เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้เคยพระราชทานแต่ในเวลาพิธีฉัตรมงคล
แต่ทรงพระราชดำริห์ว่าในเวลานั้นจะเป็นเวลาเสด็จพระราชดำเนินระหว่างทาง
และพระเจ้าลูกเธอก็จะต้องเสด็จไปทางไกลในการเล่าเรียน
และเวลานั้นพระเจ้าลูกยาเธอก็มีพระชนมายุ ครบกำหนด
ควรรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
แลได้ทรงอุสาหะเล่าเรียนจนสอบไล่ได้ชั้นสูง
จึงได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นั้น …”


ข้อความประชาสัมพันธ์โรงเรียนของนาย Littlejohns
กล่าวถึงผลการสอบ Passing-Out Examination ของ H.R.H. Prince Abhakara of Siam
อย่างภาคภูมิใจว่า ทรง … went through this Examination direct from The Limes …
และทรง … took 4 Place in the List of Midshipmen and FIRST Classes in ALL subjects …


The Morning Post เผยแพร่ข้อความประชาสัมพันธ์ข้างต้น
ในหนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 5 มกราคมปีถัดมา สะท้อนว่าผลการทรงสอบ
ของพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์นั้น สร้างความภาคภูมิใจ
แก่โรงเรียนของนาย Littlejohns ในระดับ “ข้ามปี”


“เอกสารการสอบความรู้วิชาการเรือ สำหรับผู้ที่จะเป็นนายเรือเอก”
ระบุระยะเวลาการทรงฝึกในเรือ HMS Revenge รวมทั้งเรืออื่น ๆ
ที่ประจำการในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนภาคตะวันออก รวมทั้งสิ้น 543 วัน


สูงสุด | ที่ได้ | |
การเขียนปูมและสมุดจดหมายเหตุประจำตัว | 100 | 90 |
การต่อเรือ | 150 | 120 |
เชือกเสาเพลาใบ | 125 | 115 |
การแปรกระบวนและหน้าที่นายยาม | 150 | 120 |
การสมอ | 100 | 95 |
การจัดการระเบียบภายในเรือ | 100 | 95 |
กฎป้องกันเรือโดนกัน | 75 | 75 |
การสัญญาณ | 100 | 90 |
ผลงานในอดีต | ||
ประกาศนียบัตรรับรองจากผู้บังคับการเรือ | 100 | 100 |
TOTAL | 1,000 | 900 |


ทรงมีพระคุณสมบัติ ที่จะทรงปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายยามเดินเรือ
(Officer of the Watch) บนเรือใด ๆ ก็ตามในราชนาวีอังกฤษ
และทรงผ่านการทดสอบในระดับ First Class
นายยามเดินเรือ คือผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการนำเรือตามที่ผู้บังคับการเรือ
ได้มอบหมายมาจากการแต่งตั้งนายทหารสัญญาบัตร
ทำหน้าที่รับผิดชอบสิ่งทั้งปวงในการเดินเรือ
ให้เป็นไปตามแผนที่ต้นหนได้นำเสนอ
ก่อนการออกเรือต่อผู้บังคับการเรือ ทั้งการสั่งการหางเสือ เครื่องจักรต่าง ๆ
เพื่อให้เรือบรรลุภารกิจที่กำหนดไว้อย่างสมบรูณ์


พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์
ทรงเข้าศึกษาวิชาการเดินเรือในวิทยาลัยทหารเรือกรีนิช
ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม จนถึงวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2442
โดยทรงสอบวัดความรู้ได้เป็นลำดับที่ 8 จากผู้สอบ 17 คน
และทรงได้รับประกาศนียบัตรชั้นที่ 2
โดยไม่มีผู้เข้าสอบคนใดได้ประกาศนียบัตรชั้นที่ 1 เลยแม้แต่คนเดียว


ร่างหนังสือจากขุนนางกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ
ถึงอัครราชทูตสยาม ณ กรุงลอนดอน ลงวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2442
แจ้งผลการทรงสอบวิชาการเดินเรือ โดยทรงสอบได้คะแนน 787 จาก 1,000 คะแนน


ร่างหนังสือจากขุนนางกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ
ถึงอัครราชทูตสยาม ณ กรุงลอนดอน ลงวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2442
แจ้งผลการทรงสอบวิชาการนำร่อง โดยทรงสอบได้คะแนน 831 จาก 1,000 คะแนน


… ขอบใจที่เขาจัดการ การเล่าเรียนเสร็จแล้ว
อยากให้กลับมาทำการในทหารเรือต่อไป …
พระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชทานพระยาประสิทธิศัลยการอัครราชทูต
ณ กรุงลอนดอน ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 118